วันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 เป็นวันที่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีสืบทอดต่อจาก สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และทรงสร้างกรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงของไทย
ด้วยพระมหากรุณาธิคุณดังกล่าว ในปี พ.ศ. 2416 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ให้หล่อพระบรมรูปพระเจ้าอยู่หัวทั้ง 4 พระองค์ (ร.1-4) เพื่อประดิษฐานไว้ให้พระมหากษัตริย์องค์ต่อมา พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และประชาชนได้ถวายบังคมระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ เป็นธรรมเนียมปีละครั้ง และโปรดเกล้าให้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และมีการย้ายที่หลายครั้ง เช่น พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ปราสาท และพระที่นั่งศิวาลัยปราสาทเป็นต้น ต่อมาในรัชสมัยรัชกาลที่ 6 ทรงโปรดให้ย้ายพระบรมรูปทั้ง 4 (ร.1-4) มาไว้ ณ ปราสาทพระเทพบิดร ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พร้อมกับพระบรมรูปของรัชกาลที่ 5 พระชนกนาถ
จนกระทั่ง ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2461 การซ่อมแซมก่อสร้างและประดิษฐานพระบรมรูปทั้ง 5 รัชกาล จึงสำเร็จลุล่วง และได้มีพระบรมราชโองการ ประกาศตั้งพระราชพิธีถวายบังคมพระบรมรูป ในวันที่ 6 เมษายนปีนั้น และต่อมา โปรดฯ ให้เรียกวันที่ 6 เมษายนว่า "วันจักรี"
ราชวงศ์จักรี
ชื่อของราชวงศ์จักรีมีที่มาจากบรรดาศักดิ์ "เจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์" ตำแหน่งสมุหนายก ซึ่งเป็นตำแหน่งทางราชการที่พระองค์เคยทรงดำรงตำแหน่งมาก่อนในสมัยกรุง ธนบุรี คำว่า "จักรี" นี้พ้องเสียงกับคำว่า "จักร" และ "ตรี" ซึ่งเป็นเทพอาวุธของพระนารายณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระแสงจักรและพระแสงตรีไว้ 1 สำรับ และกำหนดให้ใช้เป็นสัญลักษณ์ประจำราชวงศ์จักรีสืบมาจนถึงปัจจุบัน
รัชกาลที่ 1 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
(ขึ้นครองราชย์ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 สิ้นสุดการครองราชย์ 7 กันยายน พ.ศ. 2352)
รัชกาลที่ 2 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
(ขึ้นครองราชย์ 7 กันยายน พ.ศ. 2352 สิ้นสุดการครองราชย์ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2367)
รัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
(ขึ้นครองราชย์ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2367 สิ้นสุดการครองราชย์ 2 เมษายน พ.ศ. 2394)
รัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
(ขึ้นครองราชย์ 6 เมษายน พ.ศ. 2394 สิ้นสุดการครองราชย์ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2411)
รัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
(ขึ้นครองราชย์ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2411 สิ้นสุดการครองราชย์ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453)
รัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
(ขึ้นครองราชย์ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 สิ้นสุดการครองราชย์ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468)
รัชกาลที่ 7 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
(ขึ้นครองราชย์ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 สิ้นสุดการครองราชย์ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 (2478) (สละราชสมบัติ))
รัชกาลที่ 8 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล
(ขึ้นครองราชย์ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 (2478) สิ้นสุดการครองราชย์ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489)
รัชกาลที่ 9 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
(ขึ้นครองราชย์ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ปัจจุบันยังอยู่ในราชสมบัติ)
ตราสัญลักษณ์ ราชวงศ์จักรี
กิจกรรมในวันจักรี
เนื่องในวันจักรี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ไปเป็นประธานในพิธีทางศาสนา เพื่อบำเพ็ญพระราชกุศลให้กับบูรพมหากษัตริย์ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และทรงสักการะพระบรมรูป สมเด็จพระบูรพมหากษัตริย์ ณ ปราสาทพระเทพบิดร
ต่อจากนั้นก็ทรงเสด็จไปวางพวงมาลา ณ พระบรมราชานุสรณ์ของ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ที่สะพานพระพุทธยอดฟ้า ในโอกาสนี้นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ข้าราชการ ชั้นผู้ใหญ่ นิสิตนักศึกษา หน่วยงาน ของรัฐบาล และเอกชน และประชาชนจากทุกสาขาอาชีพต่างพร้อมใจกัน เข้าร่วมพิธีวางพวงมาลา และบำเพ็ญกุศลให้กับพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ ผู้ทรงอุทิศพระองค์ เพื่อความสงบสุขของอาณาประชาราษฎรของพระองค์อย่างแท้จริง
ต่อจากนั้นก็ทรงเสด็จไปวางพวงมาลา ณ พระบรมราชานุสรณ์ของ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ที่สะพานพระพุทธยอดฟ้า ในโอกาสนี้นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ข้าราชการ ชั้นผู้ใหญ่ นิสิตนักศึกษา หน่วยงาน ของรัฐบาล และเอกชน และประชาชนจากทุกสาขาอาชีพต่างพร้อมใจกัน เข้าร่วมพิธีวางพวงมาลา และบำเพ็ญกุศลให้กับพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ ผู้ทรงอุทิศพระองค์ เพื่อความสงบสุขของอาณาประชาราษฎรของพระองค์อย่างแท้จริง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น