26 มิถุนายน วันสุนทรภู่
พระสุนทรโวหาร นามเดิม ภู่ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า สุนทรภู่ เป็นกวีชาวไทยที่มีชื่อเสียงได้รับยกย่องเป็น เชกสเปียร์แห่งประเทศไทย เกิดหลังจากตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ได้ 4 ปี และได้เข้ารับราชการเป็นกวีราชสำนักในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อสิ้นรัชกาลได้ออกบวชเป็นเวลาร่วม 20 ปี ก่อนจะกลับเข้ารับราชการอีกครั้งในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเป็นอาลักษณ์ในสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้เลื่อนตำแหน่งเป็น พระสุนทรโวหาร เจ้ากรมอาลักษณ์ฝ่ายพระราชวังบวร ซึ่งเป็นตำแหน่งราชการสุดท้ายก่อนสิ้นชีวิต
สุนทรภู่เป็นกวีที่มีความชำนาญทางด้านกลอน ได้สร้างขนบการประพันธ์กลอนนิทานและกลอนนิราศขึ้นใหม่จนกลายเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางสืบเนื่องมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ผลงานที่มีชื่อเสียงของสุนทรภู่มีมากมายหลายเรื่อง เช่น นิราศภูเขาทอง นิราศสุพรรณ เพลงยาวถวายโอวาท กาพย์พระไชยสุริยา และ พระอภัยมณี
ประวัติสุนทรภู่
สุนทรภู่ มีชื่อเดิมว่า ภู่ เกิดในสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อวันจันทร์ เดือน 8 ขึ้น 1 ค่ำ ปีมะเมีย จุลศักราช 1148 เวลาเช้า 2 โมง เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2329 เขตพระราชวังหลัง กรุงรัตนโกสินทร์ ณ บริเวณด้านเหนือของพระราชวังหลัง ซึ่งเป็นบริเวณสถานีรถไฟบางกอกน้อยปัจจุบันนี้ บิดาเป็นชาวบ้านกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง มารดาเป็นชาวเมืองอื่น เชื่อว่าหลังจากสุนทรภู่เกิดได้ไม่นาน บิดามารดาก็หย่าร้างกัน บิดาออกไปบวชอยู่ที่วัดป่ากร่ำอันเป็นภูมิลำเนาเดิม ส่วนมารดาได้เข้าไปอยู่ในพระราชวังหลัง ถวายตัวเป็นนางนมของพระองค์เจ้าหญิงจงกล พระธิดาในเจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ ดังนั้น สุนทรภู่จึงได้อยู่ในพระราชวังหลังกับมารดา และได้ถวายตัวเป็นข้าในกรมพระราชวังหลัง สุนทรภู่ยังมีน้องสาวต่างบิดาอีกสองคน ชื่อฉิมและนิ่ม
ด้านการศึกษาสุนทรภู่
วัยเด็กสุนทรภู่ได้ร่ำเรียนหนังสือกับพระในสำนักวัดชีปะขาว ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานนามในรัชกาลที่ 4 ว่า วัดศรีสุดาราม อยู่ริมคลองบางกอกน้อย ต่อมาได้เข้ารับราชการเป็นเสมียนนายระวางกรมพระคลังสวน ในกรมพระคลังสวน แต่ไม่ชอบทำงานอื่น นอกจากแต่งบทกลอน ซึ่งสามารถแต่งได้ดีตั้งแต่ยังรุ่นหนุ่ม
ด้านครอบครัวสุนทรภู่
สุนทรภู่ได้ลอบรักกับนางข้าหลวงในวังหลังคนหนึ่ง ชื่อแม่จัน ชะรอยว่าหล่อนจะเป็นบุตรหลานผู้มีตระกูล จึงถูกกรมพระราชวังหลังกริ้วจนถึงให้โบยและจำคุกคนทั้งสอง แต่เมื่อกรมพระราชวังหลังเสด็จทิวงคตในปี พ.ศ. 2349 จึงมีการอภัยโทษแก่ผู้ถูกลงโทษทั้งหมดถวายเป็นพระราชกุศล หลังจากสุนทรภู่ออกจากคุกก็เดินทางไปหาบิดาที่เมืองแกลง จังหวัดระยอง การเดินทางครั้งนี้สุนทรภู่ได้แต่ง นิราศเมืองแกลง พรรณนาสภาพการเดินทางต่างๆ เอาไว้โดยละเอียด และลงท้ายเรื่องว่า แต่งมาให้แก่แม่จัน “เป็นขันหมากมิ่งมิตรพิสมัย” ในนิราศได้บันทึกสมณศักดิ์ของบิดาของสุนทรภู่ไว้ด้วยว่า เป็น “พระครูธรรมรังษี” เจ้าอาวาสวัดป่ากร่ำ กลับจากเมืองแกลงคราวนี้ สุนทรภู่จึงได้แม่จันเป็นภรรยา สุนทรภู่กับแม่จันมีบุตรด้วยกัน 1 คน ชื่อหนูพัด ได้อยู่ในความอุปการะของเจ้าครอกทองอยู่ ส่วนหนุ่มสาวทั้งสองมีเรื่องระหองระแหงกันเสมอ จนภายหลังก็เลิกรากันไป
สุนทรภู่มีบุตรชายสามคน คือพ่อพัด เกิดจากภรรยาคนแรกคือแม่จัน พ่อตาบ เกิดจากภรรยาคนที่สองคือแม่นิ่ม และพ่อนิล เกิดจากภรรยาที่ชื่อแม่ม่วง นอกจากนี้ปรากฏชื่อบุตรบุญธรรมอีกสองคน ชื่อพ่อกลั่น และพ่อชุบ
พ่อพัดนี้เป็นลูกรัก ได้ติดสอยห้อยตามสุนทรภู่อยู่เสมอ เมื่อครั้งสุนทรภู่ออกบวช พ่อพัดก็ออกบวชด้วย เมื่อสุนทรภู่ได้มารับราชการกับเจ้าฟ้าน้อย พ่อพัดก็มาพำนักอยู่ด้วยเช่นกัน ส่วนพ่อตาบนั้นปรากฏว่าได้เป็นกวีมีชื่ออยู่พอสมควร เมื่อถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตราพระราชบัญญัตินามสกุลขึ้น ตระกูลของสุนทรภู่ได้ใช้นามสกุลต่อมาว่า ภู่เรือหงส์ เรื่องนามสกุลของสุนทรภู่นี้ ก.ศ.ร. กุหลาบ เคยเขียนไว้ในหนังสือสยามประเภท อ้างถึงผู้ถือนามสกุล ภู่เรือหงส์ ที่ได้รับบำเหน็จจากหมอสมิทเป็นค่าพิมพ์หนังสือเรื่อง พระอภัยมณี แต่หนังสือของ ก.ศ.ร. กุหลาบ ไม่เป็นที่ยอมรับของราชสำนัก ด้วยปรากฏอยู่บ่อยครั้งว่ามักเขียนเรื่องกุ เรื่องนามสกุลของสุนทรภู่จึงพลอยไม่ได้รับการเชื่อถือไปด้วย จนกระทั่ง ศจ.ผะอบ โปษะกฤษณะ ยืนยันความข้อนี้เนื่องจากเคยได้พบกับหลานปู่ของพ่อพัดมาด้วยตนเอง
ด้านการงานสุนทรภู่
สุนทรภู่ได้เข้ารับราชการในกรมพระอาลักษณ์เมื่อ พ.ศ. 2359 ในรัชสมัยรัชกาลที่ 2 มูลเหตุในการได้เข้ารับราชการนี้ ไม่ปรากฏแน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าอาจแต่งโคลงกลอนได้เป็นที่พอพระทัย ทราบถึงพระเนตรพระกรรณจึงทรงเรียกเข้ารับราชการ แนวคิดหนึ่งว่าสุนทรภู่เป็นผู้แต่งกลอนในบัตรสนเท่ห์ ซึ่งปรากฏชุกชุมอยู่ในเวลานั้น อีกแนวคิดหนึ่งสืบเนื่องจาก “ช่วงเวลาที่หายไป” ของสุนทรภู่ ซึ่งน่าจะใช้วิชากลอนทำมาหากินเป็นที่รู้จักเลื่องชื่ออยู่ ชะรอยจะเป็นเหตุให้ถูกเรียกเข้ารับราชการก็ได้
ระหว่างรับราชการ สุนทรภู่ต้องโทษจำคุกเพราะถูกอุทธรณ์ว่าเมาสุราทำร้ายญาติผู้ใหญ่ แต่จำคุกได้ไม่นานก็โปรดพระราชทานอภัยโทษ เล่ากันว่าเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงติดขัดบทพระราชนิพนธ์เรื่องสังข์ทอง ไม่มีใครแต่งได้ต้องพระทัย ภายหลังพ้นโทษ สุนทรภู่ได้เป็นพระอาจารย์ถวายอักษรสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอาภรณ์ พระราชโอรสในรัชกาลที่ 2 เชื่อว่าสุนทรภู่แต่งเรื่อง สวัสดิรักษา ในระหว่างเวลานี้
ด้านช่วงชีวิตสุนทรภู่
สุนทรภู่รับราชการอยู่เพียง 8 ปี เมื่อถึงปี พ.ศ. 2367 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคต หลังจากนั้นสุนทรภู่ก็ออกบวช แต่จะได้ลาออกจากราชการก่อนออกบวชหรือไม่ยังไม่ปรากฏแน่ชัด แม้จะไม่ปรากฏโดยตรงว่าสุนทรภู่ได้รับพระบรมราชูปถัมภ์จากราชสำนักใหม่ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ก็ได้รับพระอุปถัมภ์จากพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์อื่นอยู่เสมอ เช่น ปี พ.ศ. 2372 สุนทรภู่ได้เป็นพระอาจารย์ถวายอักษรเจ้าฟ้ากลางและเจ้าฟ้าปิ๋ว พระโอรสในเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี ปรากฏความอยู่ใน เพลงยาวถวายโอวาท นอกจากนั้นยังได้อยู่ในพระอุปถัมภ์ของพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ และกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ซึ่งปรากฏเนื้อความในงานเขียนของสุนทรภู่บางเรื่องว่า สุนทรภู่แต่งเรื่อง พระอภัยมณี และ สิงหไตรภพ ถวาย
สุนทรภู่บวชอยู่เป็นเวลา 18 ปี ระหว่างนั้นได้ย้ายไปอยู่วัดต่างๆ หลายแห่ง เท่าที่พบระบุในงานเขียนของท่านได้แก่ วัดเลียบ วัดแจ้ง วัดโพธิ์ วัดมหาธาตุ และวัดเทพธิดาราม งานเขียนบางชิ้นสื่อให้ทราบว่า ในบางปี ภิกษุภู่เคยต้องเร่ร่อนไม่มีที่จำพรรษาบ้างเหมือนกัน ผลจากการที่ภิกษุภู่เดินทางธุดงค์ไปที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ปรากฏผลงานเป็นนิราศเรื่องต่างๆ มากมาย และเชื่อว่าน่าจะยังมีนิราศที่ค้นไม่พบอีกเป็นจำนวนมาก
งานเขียนชิ้นสุดท้ายที่ภิกษุภู่แต่งไว้ก่อนลาสิกขาบท คือ รำพันพิลาป โดยแต่งขณะจำพรรษาอยู่ที่วัดเทพธิดาราม พ.ศ. 2385
ปี พ.ศ. 2385 ภิกษุภู่จำพรรษาอยู่ที่วัดเทพธิดาราม คืนหนึ่งหลับฝันเห็นเทพยดาจะมารับตัวไป เมื่อตื่นขึ้นคิดว่าตนถึงฆาตจะต้องตายแล้ว จึงประพันธ์เรื่อง รำพันพิลาป พรรณนาถึงความฝันและเล่าเรื่องราวต่างๆ ที่ได้ประสบมาในชีวิต หลังจากนั้นก็ลาสิกขาบทเพื่อเตรียมตัวจะตาย ขณะนั้นสุนทรภู่มีอายุได้ 56 ปี
หลังจากลาสิกขาบท สุนทรภู่ได้รับพระอุปถัมภ์จากเจ้าฟ้าน้อย หรือสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ รับราชการสนองพระเดชพระคุณทางด้านงานวรรณคดี สุนทรภู่แต่ง เสภาพระราชพงศาวดาร บทเห่กล่อมพระบรรทม และบทละครเรื่อง อภัยนุราช ถวาย รวมถึงยังแต่งเรื่อง พระอภัยมณี ถวายให้กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพด้วย เมื่อถึงปี พ.ศ. 2394 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต เจ้าฟ้ามงกุฎเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงสถาปนาเจ้าฟ้าน้อยขึ้นเป็น พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว สุนทรภู่จึงได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้ากรมอาลักษณ์ฝ่ายพระราชวังบวร มีบรรดาศักดิ์เป็น พระสุนทรโวหาร ช่วงระหว่างเวลานี้สุนทรภู่ได้แต่งนิราศเพิ่มอีก 2 เรื่อง คือ นิราศพระประธม และ นิราศเมืองเพชร
สุนทรภู่พำนักอยู่ในเขตพระราชวังเดิม ใกล้หอนั่งของพระยามนเทียรบาล (บัว) มีห้องส่วนตัวเป็นห้องพักกั้นเฟี้ยมที่เรียกชื่อกันว่า “ห้องสุนทรภู่” เชื่อว่าสุนทรภู่พำนักอยู่ที่นี่ตราบจนสิ้นชีวิต เมื่อปี พ.ศ. 2398 สิริรวมอายุได้ 69 ปี
ผลงานสุนทรภู่
งานประพันธ์ของสุนทรภู่เท่าที่มีการค้นพบในปัจจุบันมีปรากฏอยู่เพียงจำนวนหนึ่ง และสูญหายไปอีกเป็นจำนวนมาก ถึงกระนั้นตามจำนวนเท่าที่ค้นพบก็ถือว่ามีปริมาณค่อนข้างมาก เรียกได้ว่า สุนทรภู่เป็น “นักเลงกลอน” ที่สามารถแต่งกลอนได้รวดเร็วหาตัวจับยาก ผลงานของสุนทรภู่เท่าที่ค้นพบในปัจจุบันมีดังต่อไปนี้
กลอนสุนทรภู่
- บางส่วนบางตอนจาก นิราศภูเขาทองถึงโรงเหล้าเตากลั่นควันโขมง มีคันโพงผูกสายไว้ปลายเสาโอ้บาปกรรมน้ำนรกเจียวอกเรา ให้มัวเมาเหมือนหนึ่งบ้าเป็นน่าอาย
- บางส่วนบางตอนจาก ขุนช้างขุนแผน แม่รักลูก ลูกก็รู้ อยู่ว่ารัก ใครอื่นสัก หมื่นแสน ไม่แม้นเหมือน จะกินนอน วอนว่า เมตตาเตือน จะจากเรือน ร้างแม่ ก็แต่กาย
- บางส่วนบางตอนจาก สุดสาคร แล้วสอนว่าอย่าไว้ใจมนุษย์ มันแสนสุดลึกล้ำเหลือกำหนดถึงเถาวัลย์พันเกี่ยวที่เลี้ยวลด ก็ไม่คดเหมือนหนึ่งในน้ำใจคน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น